วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ประวัติหลวงพ่อพระใส













































ที่มา : ข่าวสดรายวัน -20 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6352

ไหว้พระประธาน 76 จังหวัด "หลวงพ่อพระใส" เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก มีพระรูปลักษณะงดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว


ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย เป็นพระพุทธรูปที่ชาวเมืองนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพสักการะอย่างยิ่งมีความเชื่อกันว่า หลวงพ่อพระใส ทำการหล่อในสมัยเชียงแสน ชั้นหลังพระใสเป็นพระพุทธรูปล้านช้าง


สมัยนั้นประเทศล้านช้างยังรุ่งเรืองอยู่และพระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง พระเจ้าแผ่นดินทรงสนพระทัยในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งพระใส เป็นพระพุทธรูปที่หล่อคราวเดียวกันกับพระเสริม และพระสุก และคู่เคียงกันมาเสมอ พระใสเป็นพระพุทธรูปที่ผู้หล่อประสงค์จะให้เป็นพระสำหรับแห่มาแต่เดิม สังเกตได้จากห่วงกลม 3 ห่วง โตกว่านิ้วมือติดอยู่กับพระแท่น (หล่อติดกับองค์พระ) สำหรับผูกสอดเชือกขันกับยานแห่


เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว พระเกศเดิมของพระใสซึ่งเป็นของที่มีราคามาก ได้ถูกขโมยลักเอาไป พระเกศที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้เป็นพระเกศใหม่ ภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัยนั้น จะมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติความเป็นมาของการหล่อพระสุก พระเสริม พระใส จำนวน 20 ภาพ มีใจความว่า


ในรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ช่วง พ.ศ.2093-2115 แห่งอาณาจักรล้านช้างศรีสัตนาคณหุต ทรงมีพระราชธิดา 3 พระ องค์ ทรงพระนามว่า สุก, เสริม และใส พระราชธิดาทั้งสามมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงร่วมพระทัยขอพรจากพระราชบิดา สร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ มีข้าราชการ ชาวบ้าน และทางวัดได้ระดมช่างและคนมาช่วยกันอย่างมากมาย การหลอมทองเป็นไปด้วยความยากลำบากใช้เวลาหลอมถึง 7 วัน ทองยังไม่ละลาย ล่วงเข้าวันที่ 8 ตอนใกล้เพล ขณะที่หลวงตากับสามเณรช่วยกันสูบลมหลอมทองอยู่ ปรากฏว่ามีชีปะขาวคนหนึ่งอาสามาช่วยงาน หลวงตากับสามเณรหยุดพักขึ้นไปฉันเพลบนศาลา ชาวบ้านมองเห็นชีปะขาวจำนวนมากช่วยกันเททองหล่อพระพุทธรูป แต่หลวงตากลับเห็นเพียงคนเดียว เมื่อฉันเพลเสร็จหลวงตาลงมาดูก็พบว่าทองทั้งหมดถูกเทลงในเบ้าทั้งสามเรียบร้อยแล้ว และชีปะขาวได้หายไป พระพุทธรูปทั้งสามองค์ประดิษฐาน ณ เมืองเวียงจันทน์


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ได้แข็งข้อ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ปราบเมืองเวียงจันทน์ นำโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้า เมืองเวียงจันทน์จนสงบ จึงคิดอัญเชิญพระสุก พระเสริม พระใสมาฝั่งไทย พระใสได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น ข้าหลวงอัญเชิญพระเสริม และพระใสลงไปกรุงเทพฯ ขบวนเกวียนของพระใสจากวัดประดิษฐ์ธรรมคุณถึงวัดโพธิ์ชัยเกิดเหตุขัดข้อง เกวียนไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ ท้ายที่สุดเกวียนก็หักลง แม้จะนำเกวียนมาเปลี่ยนใหม่แต่ไม่เป็นผล จึงตกลงกันว่าพระใสจะประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย ชาวหนองคายมีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อพระใส เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์สร้างขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า ให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนเป็นสำคัญ และจากความศรัทธาเลื่อมใสนี้ มักจะมีประชาชนมาบนบานขอพรต่อองค์หลวงพ่อพระใส โดยส่วนใหญ่มักจะบนบานให้แคล้วคลาด เดินทางปลอดภัย











นอกจากนี้ ยังมีการบนบานเกี่ยวกับสุขภาพ หน้าที่การงาน เมื่อบนบานและสัมฤทธิผลแล้วก็จะมาแก้บนในช่วงสงกรานต์ โดยนำปราสาทเงิน ปราสาททอง (ปัจจัย) โพธิ์เงิน โพธิ์ทอง 1 คู่, พวงมาลัย 9 พวง, แผ่นทองเปลว 9 แผ่น และผ้าอังสะ 3 ผืน มาทำการแก้บน ซึ่งจะมีพระสงฆ์พาประกอบพิธีพิเศษที่สุด คือ การบนบานขอลูกจากหลวงพ่อพระใส คู่สามีภรรยาที่ต้องการมีลูกและขอพึ่งบารมีหลวงพ่อพระใส จะต้องมาประกอบพิธีบนบานต่อหน้าหลวงพ่อพระใส เตรียมขันธ์ 5 ขันธ์ 8 ขันหมากเบ็ง เทียนเงิน เทียนทอง โดยมีพระสงฆ์นำประกอบพิธี 4 รูป หลังจากเสร็จพิธี ในวันพระสามีภรรยาต้องนุ่งขาวห่มขาว งดร่วมเพศเด็ดขาด จะต้องถือศีล 8 อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีลูก และเมื่อสัมฤทธิ์ดังประสงค์แล้ว รอให้คลอดลูกก่อน แล้วนำลูกน้อยนั้นมาทำพิธีแก้บน โดยจะมีพระสงฆ์ 4 รูป นำประกอบพิธีต่อหน้าหลวงพ่อพระใสและผูกแขนทารกแรกเกิดให้ ถือว่าเป็นการปวารณาเป็นลูกของหลวงพ่อ มีข้อห้าม คือ เด็กที่เกิดจากการบนบานขอพรจากหลวงพ่อพระใส จะเป็นเด็กซนมาก แต่ฉลาด พ่อแม่ห้ามตีเด็ดขาด หากวันใดตีเด็ก เด็กจะป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุทันที และต้องมาทำพิธีขอขมาองค์หลวงพ่อ


สำหรับงานประเพณีสำคัญเกี่ยวกับองค์หลวงพ่อพระใส ชาวหนองคายจะยึดถือเอาวันสงกรานต์ของทุกปี จัดงานสมโภชหลวงพ่อพระใส โดยในวันที่ 13 เมษายน จะเป็นวันทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใสลงจากพระแท่นแห่รอบพระอุโบสถ เวียนประทักษิณ 3 รอบ แล้วอัญเชิญขึ้นสู่ราชรถ เป็นองค์พระประธานนำพระพุทธรูปจากชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย แห่ไปรอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลและในวันสุดท้าย จะมีพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใสกลับขึ้นประดิษฐานบนพระอุโบสถเช่นเดิม เป็นอันเสร็จสิ้นงานประเพณีสมโภชองค์หลวงพ่อพระใสในรอบปี
ต้นสาละ ภายในบริเวณวัด












คาถาบูชาหลวงพ่อพระใส
ตั้งนะโม 3 จบ อะระหัง พุทโธ โพธิชโย เสยยะคุโณ โพธิสัตโต มหาลาโภ ปิยัง มะมะ ภะวันตุโน โหตุ สัพพะทา

ไม่มีความคิดเห็น: