วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วันมาฆบูชา




วันมาฆบูชา ประวัติ ความเป็นมา
ต ร ง กั บ วั น ขึ้ น ๑ ๕ ค่ำ เ ดื อ น ๓ (๙ ก.พ.๕๒)



"มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า"มาฆบุรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓ วันมาฆบูชา จึงตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชา ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปฎิโมกข์ แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ "จาตุร" แปลว่า ๔ "องค์" แปลว่า ส่วน "สันนิบาต" แปลว่า ประชุม ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ
๑. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ การทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา
ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำ ถวาย ดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดิน เวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัด เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี



กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา
๑. ทำบุญใส่บาตร
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียนที่วัด
๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ





ประวัติวันมาฆะบูชา
หากย้อนไปในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ในสมัยพุทธกาล วันนี้เป็นวันที่มีการประชุมครั้งใหญ่ หรือ จาตุรงคสันนิบาต อันมีความมหัศจรรย์ 4 ประการ ในครั้งพุทธกาล กล่าวคือ ภิกษุจำนวน 1,250 องค์ มาจาก ที่ต่าง ๆ กัน เพื่อสักการะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เวฬุวันวิหาร ในกรุงราชคฤห์ เมืองมคธ แต่ละองค์ก็เดินทาง มาเอง โดยมิได้มีการนัดหมายกันล่วงหน้าแต่ประการใด พระภิกษุทั้งหมด ล้วนแต่เป็นผู้ได้บรรลุพระอรหันต ์แล้วทุกๆองค์

พระภิกษุเหล่านั้น ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งสิ้น พระจันทร์กำลังเสวยมาฆะฤกษ์ เป็นวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงในเดือนสาม ซึ่งเป็นคืนวันเพ็ญ ที่ถือเป็นเวลาดีที่สุด ท่านเรียกว่า โอกาสโลกเป็นใจ คือ กลางคืน อากาศไม่ร้อน ทั้งดวงจันทร์ก็สว่างนวล ไม่มีเมฆหมอกบัง ท้องฟ้าแจ่มใส เหมาะอย่างยิ่งในการฟังธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริว่า เป็นกาลเวลาอันเหมาะสมที่จะได้กระทำพิธี สันนิบาตสาวก เพื่อวางรากฐานสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่โลก ประกาศอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่ามกลางพระอรหันตสาวกทั้ง 1,250 รูป
เพื่อเป็นหลักในการดำเนิน การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกื้อกูลประโยชน์สูงสุดแก่ชาวโลก การประชุมครั้งนี้จึงถือว่า เป็นการประชุมครั้งยิ่งใหญ่ และสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพระบรมศาสดาเป็นประธาน ท่ามกลางมหาสันนิบาตแห่งสาวก พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรม โอวาทปาฏิโมกข์ อันเปรียบเสมือนธรรมนูญแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวพุทธทั้งหลายได้ยึดถือเป็นแม่บท สำหรับ การประพฤติปฏิบัติ เพื่อความพ้นทุกข์ของตนเอง และเป็นแม่บทสำหรับการเผยแผ่ พระพุทธศาสนา มาตราบเท่าทุกวันนี้

สำหรับโอวาทปาฏิโมกข์นี้ เป็นคนละอย่างกับพระปาฏิโมกข์ ที่พระภิกษุต้องลงโบสถ์ฟังทุกวันพระ กึ่งเดือน พระปาฏิโมกข์ หมายถึง ศีล 227 ข้อ ซี่งเป็นพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ แต่ โอวาทปาฏิโมกข์ ที่ พระบรมศาสดาทรงแสดงในครั้งนั้นเป็นโอวาทที่เป็นหลักประธาน ในการประกาศ พระศาสนา
โอวาทปาฏิโมกข์นั้น มีใจความสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา หลักคำสอนที่สำคัญหรือหัวใจของพระพุทธศาสนา และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อุดมการณ์ของชาวพุทธ

อุดมการณ์ของชาวพุทธ คือเป้าหมายอันดีงามสูงสุดของชาวพุทธ หรือเป้าหมายชีวิตของชาวพุทธ อันได้แก่พุทธบริษัท 4 ยิ่งถ้าบวชแล้วก็ต้องยิ่งตั้งเป้าหมายให้เด่นชัด และยังทำให้เกิดความกระตือรือร้น ที่จะปรับปรุงตัวตาม
เป้าหมาย ตามคำสอนของพระบรมศาสดา ให้เป็นเนื้อนาบุญชองชาวโลก คือเป็นประโยชน์ เป็นที่พึ่งทั้งต่อตนเองและชาวโลกอีกด้วยเพราะฉะนั้น พวกเราต้องมาพิจารณาอุดมการณ์ ของชาวพุทธ ซึงมี 3 ประการ ดังนี้
1. ขนตี ปรมํ ตโป ตีติกขา ความอดทน คือความทนทาน เป็นตบะอย่างยิ่ง (ต้องมีควาามอดทนและเข้มแข็ง อดกลั้นต่ออำนาจฝ่ายต่ำของกิเลสที่คอยชักจูงให้กระทำผิด)
2. นิพพานํ ปรมํ วทนติ พุทธา ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม (ต้องมุ่งความดับทุกข์ โดยมีขันติเป็นเครื่องกำจัดกิเลสให้หมดไปตามลำดับ จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือพระนิพพาน)
3. นหิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํวิเหฐยนฺโต บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ เลย (ผู้รักความสงบ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดขีวิต ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน)

หัวใจของพระพุทธศาสนาคือหลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เมื่อเรามีอุดมการณ์มั่นคงอยู่ในใจแล้ว ควรจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานหลักการการดำเนินชีวิตไว้ 3 ประการ ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นหัวใจ ของพระพุทธศาสนา
1. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง (ไม่ว่าจะด้วยกาย วาจา หรือใจ)
2. กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม (ความดีหรือบุญนั้น แม้เพียงเล็กน้อย ก็อย่าไปดูถูก ว่าจะไม่ให้ ผลเพราะขึ้นชื่อว่าบุญ ไม่ว่ามากหรือน้อย ย่อมให้ผลเป็นความสุขทั้งนั้น)
3. สจิตฺต ปริโยทปนํ การกลั่นจิตใจของตนให้ผ่องใส (คิด พูด ทำแต่ในสิ่งที่ดี หมั่นเจริญภาวนาให้มาก มีโยนิโสมนสิการคือการจับแง่คิดในทางที่ถูกต้อง จะทำให้ใจไม่ฟุ้งซ่าน ผ่องใสอยู่เสมอ)
วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือวิธีการปรับปรุงตัวเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบ วิธีการปรับปรุงตัว เองให้เหมาะสมที่จะเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ตนเอง และชาวโลกไปพร้อม ๆ กัน อยู่ 6 ประการ ซึ่งเป็นวิธีที่ล้ำลึก ซึ่งหากใครทำตามได้นอกจากตัวเอง จะได้เป็นต้นแบบที่ดีแล้ว การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลสำเร็จอย่างงดงาม แน่นอนอีกด้วย
1. อนูปวาโท การไม่เข้าไปว่าร้ายกัน (ระวังคำพูดไม่ให้เป็นการกล่าวว่าร้ายใคร หรือพูดโจมตีใคร)
2. อนูปฆาโต การไม่เข้าไปทำร้ายกัน (ระวังมือระวังเท้าไม่ให้ทำชั่ว ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่หรือบังคับ)
3. ปาฏิโมกฺเข จ สงฺวโร ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ (สำรวมการประพฤติปฏิบัติให้อยู่ใน วินัยและศีลธรรม อันดีตลอดเวลา)
4. มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ เป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร (รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร จะทำให้สุขภาพดี ส่งผลให้การปฏิบัติธรรมมีความเจริญก้าวหน้า)
5. ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ที่นอนที่นั่งอันสงัด (มุ่งเจริญสมณธรรมความเงียบสงัดจะทำให้จิตใจสงบ ใจรวมเป็นหนึ่งได้เร็ว)
6. อธิจิตฺเต จ อาโยโค ประกอบความเพียรในอธิจิต (หมั่นทำสมาธิภาวนาโดยไม่ทอดธุระ) เมื่อถึงวันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 คราใด ชาวพุทธทั้งหลายต่างขวนขวายประกอบการ บุญ กุศล และกระทำพิธีสักการะบูชาเป็นพิเศษ ด้วยการเวียนเทียนทักษิณาวรรต โดยรอบพระพุทธเจดีย์ พระอุโบสถ หรือจุดโคมประทีปบูชา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระคุณของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่ได้สืบทอดเจตนารมย์ อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา สืบต่อมาอย่างแน่วแน่ ตราบจนทุกวันนี้
ในขณะเดียวกัน เนื่องในโอกาส อันเป็นมงคลนี้ พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว ก็จะทรงเสด็จไปประกอบพิธีทางศาสนา ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และ ต่อมา ก็จะทรงนำ เหล่าพสกนิกรประกอบพิธีเวียนเทียน จัดขึ้นภายในวัด พระแก้วนี้ด้วย พิธีเวียนเทียน นี้จะประกอบในเวลาใด ก็ได้ แล้วแต่ ความสะดวกของ ประชาชน อาจจะเป็น ตอนเช้าหรือตอนเย็นก็ได้

แต่ในปัจจุบันมักจะนิยมจัดพิธีเวียนเทียน ในช่วงพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว โดยขบวนเวียนเทียนนี้ ก็จะมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ

ที่มา : http://www.dhammathai.org/

ไม่มีความคิดเห็น: